วัดมหาธาตุ วัดโบราณในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา


เป็นวัดที่อยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญที่สุดในกรุงศรีอยุธยา เพราะนอกจากเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุกลางเมืองแล้ว ยังเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคามวาสีอีกด้วย (ส่วนพระสังฆราชฝ่ายอรัญวาสีนั้น ประทับอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล หรือ สำนักวัดป่าแก้ว) สันนิษฐานว่าวัดนี้ได้ริเริ่มสร้างองค์พระมหาธาตุขึ้นในแผ่นดินสมเด็จบรมราชาธิราชที่ ๑(ขุนหลวงพระงั่ว) แต่อาจจะยังไม่สำเร็จในรัชกาลของพระองค์ จนถึงรัชกาของสมเด็จ
พระราเมศวรจึงทรงสร้างเพิ่มเติมจนเสร็จบริบูรณ์เป็นพระอาราม แล้วขนานนามว่า”วัดมหาธาตุ”

     ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.๒๑๕๓-๒๑๗๑)พระปรางค์เคยพังลงมาเกือบครึ่งองค์ถึงชั้นครุฑ ต่อมาสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงบูรณะใหม่โดยเสริมพระมหาธาตุให้สูงยิ่งขึ้น รวมเป็นความสูง 25 วา ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า“ศักราช ๙๙๕ (พ.ศ.๒๑๗๖) ปีระกา เบญจศก ทรงพระกรุณาให้สถาปนาพระปรางค์วัดพระมหาธาตุอันทำลายลง เก่าเดิมในองค์สูง ๑๙ วายอดนภศูลสูง ๓ วาจึงดำรัสว่าทรงเก่าล่ำนัก ให้ก่อใหม่ไห้องค์สูงเส้น ๒ วายอดนภศูลคงไว้ เข้ากันเป็นเส้น ๕ วา (๕๐เมตร)ก่อแล้วเห็นเพรียวอยู่ ให้เอาไว้มะค่ามาแทรก ตามอิฐเอาปูนบวก ๙ เดือนสำเร็จให้กระทำการฉลองเป็นอันมาก”หลังจากรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ก็ไม่ปรากฏเรื่องราวของวัดมหาธาตุอีกเลย
    ครั้นเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกครั้งหลังใน พ.ศ.๒๓๑๐ ในคราวนั้นวัดมหาธาตุถูกไฟไหม้เสียหายมาก พระอุโบสถและวิหาร ตลอดจนกุฏิสงฆ์ถูกเผาผลาญยับเยิน คงเหลือแต่ซากผนังและตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดมหาธาตุก็ได้กลายเป็นวัดร้าง จนกระทั่งพระยาไชยวิชิต (เผือก)ผู้รักษาการกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาลที่๓ทำการซ่อมวัดหน้าพระเมรุที่ริมครองสระบัวขึ้นใหม่หมดทั้งวัด จึงได้เชิญพระพุทธรูปองค์นั่งห้องพระบาทไปประดิษฐานไว้ในวิหารน้อย ซึ่งอยู่ในวัดหน้าพระเมรุจนบัดนี้

กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะวัดมหาธาตุขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2499 โดยให้ความสำคัญที่ตรงกลางพื้นห้องคูหาเรือนธาตุของปรางค์ประธาน ตามรอยที่คนร้ายได้ลักลอบขุดไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ได้พบปล่องภายใน มีสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ด้วย การค้นพบนี้ทำให้เรามีความรู้เกี่ยวกับการบูชาพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยาเพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ พระบรมสารีริกธาตุนั้นบรรจุอยู่ในผอบ 7 ชั้น จากชั้นในสุดออกมาชั้นนอก ดังนี้
        พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งเป็นผลึกขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของเมล็ดข้าวสารนั้น บรรจุในตลับทอง ชั้นที่ 2 คือ สถูปแก้วผลึก ซึ่งประดับด้วยทองอัญมณี ได้แก่ โกเมน มรกต และทับทิม ชั้นที่ 3 เป็นสถูปไม้แดง ชั้นที่ 4 เป็นสถูปไม้ดำ ชั้นที่ 5 สถูปนาก ชั้นที่ 6 สถูปเงิน ชั้นที่ 7 สถูปชิน สถูปทั้ง 7 ชั้นบรรจุในเสาหิน สูง 3.20 เมตร ภายในกลวงมีฝาปิด เสาหินนี้อยู่ภายในช่องเป็นปล่องยาวจากตรงกลางห้องคูหาเรือนธาตุจนจรดระดับพื้นดิน ปัจจุบันสถูปทั้งหมดพร้อมพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้เก็บรักษาและจัดแสดงให้ชมและสักการบูชาที่ห้องมหาธาตุ ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา 
        ภายในห้องของปรางค์ประธานมีจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาเป็นรูปอดีตพระพุทธเจ้าประทับนั่งปางสมาธิ บ้างอยู่ในปางมารวิชัยภายในซุ้มเรือนแก้ว (คล้ายกับซุ้มเรือนแก้วของพระพุทธชินราช ที่พิษณุโลก) ซึ่งอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่อีกทีหนึ่ง รูปอดีตพระพุทธเจ้านั้นประทับนั่งต่อเรียงกันเป็นแถว โดยแต่ละองค์มีพุทธสาวกนั่งประนมมืออยู่ใต้ฉัตร 3 ชั้น รูปอดีตพระพุทธเจ้าที่นั่งเรียงกันเป็นแถวนี้มีอยู่หลาย ๆ แถวด้วยกัน เรียงจากชั้นบนลงชั้นล่างสุด
        อนึ่ง วัดมหาธาตุนั้นได้มีการค้นพบพระพุทธรูปหินสีเขียวสมัยทวารวดีองค์ใหญ่ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับการเคลื่อนย้ายไปประดิษฐานในวิหารน้อยของวัดหน้าพระเมรุ เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้คงจะเคลื่อนย้ายมาจากวัดหน้าพระเมรุ จังหวัดนครปฐม มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว

จุดน่าสนใจที่สำคัญ คือเศียรพระพุทธรูปโดนหุ้มด้วยต้นไม้ เหมือนดั่งธรรมชาติช่วยโอบอุ้มสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเอาไว้

บรรยากาศภายในวัด
บรรยากาศภายในวัด

ขอขอบคุณที่่มาและรูปภาพสวยๆ จาก :
http://watboran.wordpress.com/
http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/
รูปเศียรพระสวยๆจาก http://www.klongdigital.com/
คุณเจ้าหญิงใจดี http://www.bloggang.com/

Share this

Related Posts

Previous
Next Post »