วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

  หากนึกถึงเที่ยววัดต้องไม่พลาดเที่ยววัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งก็ตั้งอยู่ริม แม่น้ำเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันตกของเกาะเมือง วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดหนึ่ง ที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างไม่เหมือนวัดอื่นๆ ใน อยุธยา และเนื่องจากกรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะตลอดมาจนปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2173 บริเวณที่ตั้งของวัดนี้เคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพระราชมารดาซึ่งได้สิ้นไปก่อนที่พระเจ้าปราสาททองจะเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์ การสิ้นพระชนม์ของพระราชมารดา มีความเกี่ยวเนื่องกับการขึ้นครองราชย์ของพระองค์ กล่าวคือ พระราชมารดาสิ้นขณะที่พระองค์มีตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีกลาโหมในรัชสมัยพระเชษฐาธิราช เจ้าพระยากลาโหมได้จัดงานศพให้กับมารดาของท่านที่บริเวณวัดกุฎธาราม โดยเชิญขุนนางทั้งทหารและพลเรือนจำนวนมากมาร่วมงานศพในครั้งนั้น และในที่ชุมนุมนี้เองที่เจ้าพระยากลาโหมได้ประกาศเจตจำนงในอันที่จะยึดอำนาจจากกษัตริย์ ต่อมาเมื่อได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 25 เป็นต้นราชวงศ์ของราชวงศ์ปราสาททองแล้ว พระองค์จึงได้สร้างวัดไชยวัฒนารามขึ้นเพื่ออุทิศผลบุญนี้ให้กับพระราชมารดาของพระองค์ อนึ่ง วัดนี้อาจจะถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเขมรด้วย ฉะนั้นรูปแบบในทางสถาปัตยกรรมจึงเหมือนหนึ่งจำลองมาจากนครวัด อย่างเดียวกับที่พระองค์ได้ทรงสร้างปราสาทวัดพระนครหลวง ริมแม่น้ำป่าสัก บนเส้นทางจากอยุธยาไปพระพุทธบาท สระบุรี


ศูนย์กลางอยู่ที่องค์ปรางค์ประธานขนาดใหญ่สูงถึง 35 เมตร ซึ่งล้อมรอบด้วยปรางค์บริวาร 4 องค์ประจำทิศต่าง ๆ ปรางค์ทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณเดียวกัน ล้อมรอบด้วยระเบียงคดยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีหลังคารูปจั่วคลุมยาวโดยตลอด และตลอดความยาวของพระระเบียงนี้มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย จำนวน 120 องค์ ประทับนั่งอยู่เป็นแถวยาว และมีอาคารทรงเมรุประจำอยู่ทั้ง 8 ทิศ โดยผนังด้านนอกของเมรุทิศนี้มีปูนปั้นอยู่ 12 ภาพ แสดงเรื่องราวพุทธประวัติ วัดไชยวัฒนาราม เป็นวัดหลวงที่ใช้บำเพ็ญพระราชกุศลของกษัตริย์ทุกพระองค์สืบต่อมาทุกสมัยของอาณาจักรอยุธยา ทั้งนี้ใช้เป็นที่ถวายพระเพลิงศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ต่าง ๆ ตลอดจนพระศพของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ก็ได้รับการถวายพระเพลิงที่นี่เช่นกัน

        วัดไชยวัฒนาราม กลายเป็นค่ายตั้งรับศึกพม่าในสงครามเสียกรุง ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ต่อจากนั้นก็ร้างไป จนเพิ่งได้รับการขุดแต่งเพื่อการอนุรักษ์ เมื่อ พ.ศ. 2530




ขอบคุณ :  http://www.ayutthayastudies.aru.ac.th/

เครดิตภาพ : http://commons.wikimedia.org, chanchai38301.wordpress.com

Share this

Related Posts

Previous
Next Post »